อุโมงค์ส่งน้ำ เส้นเลือดใหญ่แห่งการพัฒนาเสถียรภาพการให้บริการน้ำประปา
การประปานครหลวง (กปน.) ดำเนินโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความมั่นคงของระบบประปา และเสริมสร้างเสถียรภาพการให้บริการน้ำประปา ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ให้สามารถเข้าถึงน้ำประปาที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัยได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเพียงพอ
หนึ่งในงานก่อสร้างที่มีความสำคัญ คือ งานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเพื่อรองรับการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำจากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพและความมั่นคงของระบบส่งน้ำในการส่งน้ำประปาทดแทนระหว่างกันในพื้นที่ให้บริการทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนเพื่อบรรเทาผลกระทบในกรณีแม่น้ำเจ้าพระยามีน้ำดิบที่ด้อยคุณภาพรุกล้ำถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแล อุโมงค์ส่งน้ำนับเป็นองค์ประกอบสำคัญ เปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่หรือหลอดเลือดแดงที่เป็นท่อนำน้ำประปาที่สูบฉีดจากหัวใจ (สถานีสูบส่ง-สูบจ่ายน้ำ โรงงานผลิตน้ำ) หล่อเลี้ยงไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย หรือก็คือลำเลียงผ่านระบบท่อประปาเพื่อส่งน้ำไปยังบ้านเรือนประชาชนนั่นเอง
โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 เป็นโครงการที่มีการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำที่ใหญ่ที่สุดของ กปน. มีเส้นผ่านศูนย์กลางภายในขนาดใหญ่ที่สุด 3,800 มิลลิเมตร และนับเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแห่งที่ 2 ของการประปานครหลวง โดยมีแนวอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานกาญจนาภิเษก ซึ่งมีระดับความลึกลงไปใต้ท้องน้ำ 14 เมตร รวมทั้งเส้นทางโครงการยังมีความเสี่ยงและท้าทายในการก่อสร้าง เนื่องจากตลอดแนวเส้นทางอยู่ใกล้กับเสาตอม่อของทางยกระดับถนนกาญจนาภิเษกและสาธารณูปโภคสำคัญ ทั้งนี้ ในการก่อสร้างจำเป็นต้องใช้เทคนิคพิเศษในการก่อสร้าง โดย กปน. ได้นำเทคนิคการขุดเจาะอุโมงค์ด้วยระบบสมดุลแรงดันดิน (Earth Pressure Balance Shield : EPB Shield) และมีการนำหัวเจาะ (Tunnel Boring Machine) ขนาดใหญ่ที่มีคุณสมบัติพิเศษและความแม่นยำสูงมาใช้ ซึ่งหัวเจาะนี้ได้ติดตั้งระบบตรวจสอบสิ่งกีดขวางหน้าหัวเจาะ สามารถสแกนวัตถุด้านหน้าได้มากถึง 12 เมตร ช่วยทำให้การขุดเจาะอุโมงค์มีความปลอดภัยและลดผลกระทบต่อประชาชน สาธารณูปโภค และโครงสร้างข้างเคียงให้น้อยที่สุด
ทีมงานน้ำก๊อกขอนำท่านผู้อ่านมาเจาะลึกเกี่ยวกับงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำว่ามีขั้นตอนสำคัญหลัก ๆ อะไรบ้าง ติดตามกันได้เลยค่ะ
- การก่อสร้างบ่อก่อสร้างรูปแบบทรงกลม (Shaft Construction by Shaft Sinking) สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีระบบ
สาธารณูปโภคสำคัญ ประกอบด้วย 3 วิธี ดังนี้
dรูปแบบที่ 1 : การก่อสร้างโดยใช้แม่แรงไฮดรอลิกกดผนังบ่อให้จมจากด้านบน
รูปแบบที่ 2 : การก่อสร้างโดยวิธีเพิ่มน้ำหนักบรรทุก
รูปแบบที่ 3 : การก่อสร้างโดยใช้ไฮดรอลิกและเหล็กอัดแรง - การก่อสร้างบ่อก่อสร้างรูปแบบทรงเหลี่ยม (Diaphragm Wall Construction) สำหรับพื้นที่ที่อยู่ใกล้ระบบสาธารณูปโภคสำคัญ อาทิ ใกล้โครงสร้างสะพานยกระดับขนาดใหญ่
- การเจาะอุโมงค์ ด้วยหัวเจาะแบบสมดุลแรงดันดิน (Earth Pressure Balance Shield : EPB Shield) ซึ่งเป็นหัวเจาะแบบปิดหน้าทรงกระบอกขนาดใหญ่ ส่วนหน้าสุดเป็นใบมีดเรียงเป็นแนวแฉก ในระหว่างการขุดเจาะอุโมงค์จะมีการติดตั้งผนังอุโมงค์และมีการฉีดน้ำปูนแทนที่ช่องว่าง ระหว่างผนังอุโมงค์และดินโดยรอบผนังเพื่อป้องกันการทรุดตัวของดิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างข้างเคียงด้านบน
- การสอดร้อยท่อเหล็กภายใน (Secondary Lining) เมื่อติดตั้งผนังอุโมงค์คอนกรีต (Segment Concrete) เรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการสอดร้อยท่อเหล็กภายในอีก 1 ชั้น เพื่อไม่ให้น้ำประปาสัมผัสผนังคอนกรีตโดยตรง โดยท่อเหล็กที่ใช้มีความแข็งแรง มีการเคลือบผิวป้องกันสนิมและป้องกันการรั่วซึมของน้ำประปาในท่อ ขั้นตอนนี้ต้องมีความสะอาดและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
- การก่อสร้างหอปรับแรงดัน (Surge Tower) การก่อสร้างในช่วงแรกมีลักษณะเดียวกับการสร้างบ่อก่อสร้างรูปแบบทรงกลม มีการประกอบชิ้นส่วนซึ่งผลิตและลำเลียงมาจากโรงงานเพื่อมาประกอบหน้างาน โดยประกอบทีละชั้นจนได้ระดับความสูงของหอปรับแรงดันที่ได้กำหนดไว้ จากนั้นจึงติดตั้งฝาปิดด้านบน พร้อมติดตั้งระบบป้องกันการผุกร่อน ติดตั้งบันไดทางขึ้น พร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
- การทดสอบแรงดันน้ำและการรั่วซึม เป็นขั้นตอนการทดสอบระบบ เพื่อตรวจระบบต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้ อีกทั้งยังมีการทดสอบว่ามีการรั่วซึมของน้ำประปาออกจากระบบหรือไม่ จากนั้นจึงทำการฆ่าเชื้อโรคภายในอุโมงค์ส่งน้ำ
- การบรรจบกับท่อส่งน้ำเดิม โดยวิธีใช้ท่อเหล็กเหนียวสามทางผ่า (Steel Tapping Sleeve) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการตัดบรรจบที่นิยมใช้ เพราะดำเนินการได้เร็วและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ทั้งนี้ ในระหว่างการตัดบรรจบท่อจะต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำประปาที่สะอาดตามเกณฑ์มาตรฐานของการประปานครหลวง
เป็นอย่างไรบ้างคะ เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วทำให้รู้สึกได้เลยว่า งานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำนั้นประกอบไปด้วยเทคนิคที่ท้าทาย การทำงานขณะอยู่ภายใต้ความลึกลงไปไม่น้อยกว่า 25 เมตร นับว่ามีความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ ต้องใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมชั้นสูง ศาสตร์ทางธรณีวิทยาและฐานราก จึงเป็นโครงการที่มีการลงทุนที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากร บุคลากร ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เวลา รวมถึงการดำเนินงานที่ต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการสร้างบ่อก่อสร้างหรือฐานขุดเจาะอุโมงค์แต่ละแห่งรวมถึงการขุดเจาะอุโมงค์ ล้วนมีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่โดยรอบ หรือกล่าวได้ว่าเป็นงานระดับเทพก็อาจจะไม่เกินจริง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทั้งหมดนี้ ล้วนเพื่อส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ได้มีน้ำประปาสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึงและเพียงพอ
สุดท้ายนี้ แม้ว่าเราจะมั่นใจว่ามีน้ำประปาที่สะอาดปลอดภัย พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง แต่ทรัพยากรน้ำมีวันหมดได้ หากเราใช้อย่างไม่ประหยัด ผู้เขียนก็ขอฝากท่านผู้อ่านทุกท่าน โปรดช่วยกันดูแลและรักษาทรัพยากรน้ำ ด้วยการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อให้เรามีน้ำใช้อย่างยั่งยืนต่อไปค่ะ เริ่มวันนี้ เริ่มที่เรา
อ้างอิงข้อมูล : ฝ่ายโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก การประปานครหลวง