กปน. ตั้งเป้าปี 2566 ลดน้ำสูญเสีย 27.50% เร่งเปลี่ยนท่อประปาใหม่ปีละ 1,200 กม. ส่งมอบน้ำประปาสะอาดปลอดภัยให้บริการลูกค้ากว่า 12 ล้านคน
การประปานครหลวง (กปน.) มุ่งมั่นให้บริการน้ำประปาสะอาดปลอดภัยสู่ประชาชนกว่า 12 ล้านคนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ให้มีน้ำประปาที่สะอาดปลอดภัยตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึงและเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมสร้างโครงข่ายความมั่นคงระบบผลิตน้ำประปาให้ทั่วถึงและเพียงพอรองรับการขยายตัวของเมือง เสริมความมั่นคงของเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วยการผลักดันโครงการฯ 9 ให้แล้วเสร็จในปี 2569
ด้วยภารกิจหลักของ กปน. ในการจัดส่งน้ำประปาสะอาดปลอดภัย กปน. ได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำสูญเสีย และแรงดันน้ำ โดยตั้งเป้าลดอัตราน้ำสูญเสียสะสมที่ 27.50% ภายในปี 2566 ด้วยการวางแผนดำเนินการเปลี่ยนท่อประปาที่ใกล้ชำรุดเสื่อมสภาพเป็นท่อประปาใหม่ปีละ 1,200 กิโลเมตร โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กปน. ดำเนินการเปลี่ยนท่อประปาใหม่แล้วกว่า 5,700 กิโลเมตร พร้อมตั้งเป้าลดอัตราน้ำสูญเสียให้ลดลงเหลือเพียง 22.50% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายเพิ่มขึ้นอีก 8.7% ภายในปี 2571 ด้วยแผนการปรับปรุงท่อประปาใหม่ การจัดการน้ำสูญเสียเชิงรุก การควบคุมและบริหารแรงดันน้ำ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสำรวจหาท่อรั่วได้อย่างแม่นยำ และซ่อมบำรุงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อาทิ • การสำรวจหาท่อรั่วในระบบท่อจ่ายน้ำด้วยระบบดาวเทียม • งานบริหารจัดการน้ำสูญเสียด้วยเทคโนโลยีเซนเซอร์ • การสำรวจหาท่อรั่วด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) พัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์เสียงน้ำรั่วแบบพกพา
ซึ่งเมื่อดำเนินการเปลี่ยนเป็นท่อประปาใหม่แล้ว นอกจากประชาชนจะมีน้ำประปาที่สะอาดปลอดภัยพร้อมใช้ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว ยังสามารถเพิ่มความสุขให้ประชาชนในพื้นที่ด้วยน้ำประปาที่ไหลแรงขึ้น ไม่ต้องหยุดจ่ายน้ำเพื่อซ่อมท่อประปา ลดปัญหาการจราจรติดขัดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างดำเนินการซ่อมท่อประปา อีกทั้งการเปลี่ยนท่อประปาใหม่ดังกล่าวจะช่วยลดอัตราการแตกรั่วของท่อประปา ซึ่งทำให้เกิดน้ำสูญเสียที่รั่วไหลไปโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก เป็นการสงวนทรัพยากรน้ำเสริมความมั่นคงให้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยให้มีใช้ได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ
ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำดิบแทบทุกปี ทำให้ กปน. มีต้นทุนการผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นจากค่าสารเคมีที่ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาให้เป็นไปตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ค่าใช้จ่ายผันแปรอื่น ๆ เช่น ค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าอุปกรณ์ รวมทั้งต้นทุนค่าน้ำดิบที่ต้องจ่ายให้กับกรมชลประทานตามปริมาณน้ำที่ได้รับจัดสรรแต่ละปี โดย กปน. ร่วมมือประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมชลประทานเพื่อวางแผนการผลิตน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว
เพื่อเป็นการรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และรองรับการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวของเมือง กปน. ทุ่มงบประมาณกว่า 42,750 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 (โครงการฯ 9) เมกะโปรเจกต์เพื่อสร้างโครงข่ายความมั่นคงในการให้บริการน้ำประปา ประกอบด้วย 1) การขยายกำลังการผลิตน้ำของโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ 2) การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเชื่อมโครงข่ายท่อเส้นท่อประปาฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก และ 3) การก่อสร้างสถานีสูบจ่ายน้ำแห่งใหม่ และถังเก็บน้ำใสเพิ่มเติม การวางท่อประปาขนาดต่าง ๆ เพื่อขยายระบบจ่ายน้ำ โดยจะทยอยเสร็จตั้งแต่ปี 2567 และแล้วเสร็จทั้งระบบภายในปี 2569 ซึ่งจะสร้างความมั่นคงในระบบประปา สามารถผันน้ำระหว่างกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกและตะวันออกได้อย่างต่อเนื่อง แรงดันน้ำดีขึ้น ระบบสูบจ่ายต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก รองรับการขยายตัวของพื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีประชากรมากขึ้น ทั้งพื้นที่ที่พักอาศัยและธุรกิจต่าง ๆ โดย กปน. ยืนยันว่าสามารถผลิตน้ำประปาสะอาดปลอดภัยได้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ