กปน. คาดเมกะโปรเจกต์แล้วเสร็จในปี 2569 เสริมความมั่นคงระบบน้ำประปา ยืนยันผลิตน้ำประปาเพียงพอต่อการขยายตัวของเมือง
นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า ตามที่ กปน. มีโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 (โครงการฯ 9) ซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์เพื่อสร้างโครงข่ายความมั่นคงในการให้บริการน้ำประปาแก่ลูกค้ากว่า 12 ล้านคน ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ด้วยงบประมาณ 42,750 ล้านบาท ขณะนี้ กปน. เดินหน้างานก่อสร้างและเร่งรัดให้เป็นไปตามแผนทุกแผนงาน
โครงการฯ 9 เป็นโครงการที่ กปน. ลงทุนด้วยรายได้ขององค์กรและเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โดยกรมบัญชีกลางและองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน ประกอบด้วย
1) การขยายกำลังการผลิตน้ำของโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์
2) การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเชื่อมโครงข่ายท่อเส้นท่อประปาฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก
และ 3) การก่อสร้างสถานีสูบจ่ายน้ำแห่งใหม่ และถังเก็บน้ำใสเพิ่มเติม การวางท่อประปาขนาดต่าง ๆ เพื่อขยายระบบจ่ายน้ำ
โดยจะทยอยเสร็จตั้งแต่ปี 2567 และแล้วเสร็จทั้งระบบภายในปี 2569 ซึ่งจะสร้างความมั่นคงในระบบประปา สามารถผันน้ำระหว่างกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกและตะวันออกได้อย่างต่อเนื่อง แรงดันน้ำดีขึ้น ระบบสูบจ่ายต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก รองรับการขยายตัวของพื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีประชากรมากขึ้น ทั้งพื้นที่ที่พักอาศัยและธุรกิจต่าง ๆ
นายมานิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพน้ำดิบแทบทุกปี ทำให้ กปน. มีต้นทุนการผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นจากค่าสารเคมีต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาให้เป็นไปตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ค่าใช้จ่ายผันแปรอื่น ๆ เช่น ค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าอุปกรณ์ รวมทั้งต้นทุนค่าน้ำดิบที่ต้องจ่ายให้กับกรมชลประทานตามปริมาณน้ำที่ได้รับจัดสรรแต่ละปี ซึ่ง กปน. ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมชลประทาน อย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนการผลิตน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดย กปน. ยืนยันว่าสามารถผลิตน้ำประปาได้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ และต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของ WHO ทุกประการ อย่างไรก็ตาม ภาวะ Climate Change เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านน้ำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำต้องร่วมมือกันวางแผนในระดับมหภาคต่อไปในอนาคต